
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท Herniated-Disc
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเป็นโรคความเสื่อมอย่างหนึ่ง ปกติแล้วหมอนรองกระดูกสันหลังมีคุณสมบัติในการยืดหยุ่น รองรับแรงกระแทกที่เกิดจากการใช้งานกระดูกสันหลังในเวลาที่เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเดินหรือกระโดด ...
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน..
หมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท เป็นอาการที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ที่มีอาการปวดหลังร้าวลงขา เพราะกระดูกสันหลังบริเวณนี้รับน้ำหนักมาก และมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างเยอะกว่ากระดูกสันหลังส่วนอื่นๆ ทำให้หมอนรองกระดูกอาจจะเกิดการแตกปลิ้นออกมาจนกดเบียดเส้นประสาท โดยจะมีอาการปวดหลังช่วงเอวต่อกับสะโพก ร่วมกับปวดร้าวลงขา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง อาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมของขาหรือปลายเท้าร่วมด้วยได้
มักพบในผู้ป่วยอายุระหว่าง 20-50 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้คือการทำงานที่ต้องยกของหนัก น้ำหนักตัวมาก การสูบบุหรี่ การบิดตัวหรือก้มหลังอย่างรวดเร็วและรุนแรง เป็นต้น
สาเหตุของหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท
อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าหมอนรองกระดูกทำหน้าที่ในประคองและกระจายแรงในการรับน้ำหนักของกระดูกสันหลังโดยตรง เพราะฉะนั้นปัจจัยเสี่ยงหลักๆ จะเน้นไปในเรื่องการรับน้ำหนักและความเคลื่อนไหวที่รุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้หมอนรองกระดูกแตกปลิ้นออกมา ดังนี้
1. น้ำหนักตัวมาก
เพราะยิ่งน้ำหนักตัวมาก กระดูกสันหลังก็ต้องรับน้ำหนักมากตามไปด้วย
2. การใช้งานที่ไม่เหมาะสม
เช่น ก้มหลัง ยกของหนัก เพราะท่าทางเหล่านี้เป็นการเพิ่มแรงดันที่หมอนรองกระดูกค่อนข้างเยอะ ซึ่งอาจจะเกินความทนทานที่หมอนรองกระดูกรับได้ จนกระทั่งเกิดการแตกปลิ้นออกมา
3. การนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ
พบมากในกลุ่มคนวัยทำงาน และมักจะมีโอกาสเกิดหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทในบริเวณช่วงเอวมากที่สุด เพราะเวลาที่นั่งนานๆ กระดูกสันหลังส่วนนั้นจะรับน้ำหนักแบบเต็มๆ
4. การไอหรือจามแรงๆ
เป็นสาเหตุหนึ่งของการเพิ่มแรงดันอย่างฉับพลันในหมอนรองกระดูก
5. คนที่สูบบุหรี่จัด
บุหรี่จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมก่อนวัยอันควร และทำให้หมอนรองกระดูกเกิดการแตกปลิ้นได้มากขึ้น
การเกิดหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทมี 3 รูปแบบ
1. Protusion
ตัวนิวเคลียสด้านในมีการทะลักออกมา โดยที่ขอบด้านนอกยังไม่เกิดการฉีกขาด
2. Extrusion
ขอบด้านนอกมีการขาดออก และมีนิวเคลียสทะลักออกมาโดยที่ยังติดกับด้านในอยู่ ไม่ได้หลุดออกมาเป็นชิ้นอิสระ
3. Sequestration
ขอบด้านนอกมีการขาดออก โดยที่นิวเคลียสมีการปลิ้นหลุดออกมาเป็นชิ้นอิสระจากด้านใน
อาการปวดในช่วงแรกจะค่อนข้างมาก ซึ่งเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยคือ ปริมาณการกดทับของเส้นประสาท และการอักเสบจากการแตกปลิ้นของหมอนรองกระดูก คนไข้ประมาณ 80% ที่ทำการรักษาอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นใน4-6 สัปดาห์ แต่จะมีส่วนที่เหลือที่อาการอาจจะไม่ดีขึ้น เนื่องจากมีหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทมาก ซึ่งอาจจะต้องรักษาโดยการผ่าตัด
การกายภาพบำบัด
-
เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าคลายกล้ามเนื้อหลัง ช่วยทำให้กล้ามเนื้อข้างแนวกระดูกสันหลังลดความตึงตัวลง
-
เครื่องอัลตร้าซาวด์ช่วยลดการอักเสบของกล้มเนื้อมัดใหญ่บริเวณแนวกระดูกสันหลัง
-
เครื่องไฮเพาเวอร์เลเซอร์ช่วยลดการอักเสบของเส้นเอ็นของข้อต่อแนวกระดูกสันหลัง
-
เครื่องดึงหลังจะช่วยเพิ่มช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลัง จัดแนวกระดูกสันหลังเคลื่อนไม่ให้เคลื่อนออกมามากขึ้น
-
ใช้แผ่นประคบเย็นลดการอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่มีกล้ามเนื้ออักเสบข้างแนวกระดูกสันหลัง
-
เครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า จะช่วยฟื้นฟูเส้นประสาทที่โดยกดทับทำให้อาการชาและอ่อนแรงที่ขาดีขึ้น
-
ใช้อุปกรณ์พยุงหลังใส่ในวันที่มีกิจกรรมการเดินนาน ยืนนานหรือนั่งติดต่อกันหลายชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อหลังและแนวกระดูกสันหลังที่เคลื่อนได้พักการใช้งานในระยะที่อาการปวดรุนแรง
-
ทำท่ากายบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อช่วยพยุงข้อต่อให้ไม่เคลื่อนมากขึ้นภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัด จะเป็นท่าที่ทำแล้วไม่ไปกระตุ้นการเคลื่อนที่ของกระดูกสันหลังและอาการปวดให้กำเริบมากขึ้น
ถึงแม้ว่าอาการปวดและชาลดลง ผู้ป่วยจำเป็นต้องมารักษากายภาพบำบัดต่อเนื่องในระยะ 3 – 4 สัปดาห์โดยทำติดต่อกันสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง หลังจากนั้นหากมีอาการปวดลดลงจนสามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติแล้วจึงหยุดกายภาพบำบัดได้ แต่ระวังการทิ้งระยะการรักษาที่ห่างขึ้นในขณะที่เรายังใช้ร่างกายทำงานหนักอยู่เหมือนเดิมอาการอาจจะกลับมาได้ตลอด หากเริ่มมีอาการปวดน้อยๆ ควรรีบกลับมารักษากายภาพบำบัดต่อได้ทันทีค่ะ
Home » หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Disc)